เกี่ยวกับเรา About Us

Building exterior in Toronto, Canada

ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) ประเทศไทยได้มีการกำหนดแนวทางในการพัฒนาชาติซึ่งหน่วยงานภาครัฐต้องดำเนินการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้องค์กรบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,๒๕๖๑) อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าวัฒนธรรม และทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งหมายรวมถึงผลผลิตทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการสร้างสรรค์และหล่อหลอมทางสังคมจากรุ่นสู่รุ่นหลาย ๆ อย่างกำลังประสบกับภาวะเสื่อมถอย กรณีของวัฒนธรรมพื้นถิ่นของล้านนาเราสามารถรับรู้ความเสื่อมถอยเชิงประจักษ์ได้จากการสังเกต และยืนยันอีกส่วนหนึ่งได้จากผลการศึกษาวิจัยของมนัส สุวรรณ และคณะ (๒๕๖๕) ที่พบว่าวัฒนธรรมพื้นถิ่นหลายอย่างของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน เช่น ภาษาเมือง การแต่งกายแบบเมือง และการยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีแบบเมือง

มีความเข้มข้นในการปฏิบัติน้อยลง สภาพการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการในการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมของชาติและของพื้นถิ่นไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กรณีของทุนทางวัฒนธรรมก็ทำนองคล้ายกัน พบว่าท้องถิ่นหรือชุมชนยังไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพจนไม่สามารถยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้สมาชิกของชุมชนสามารถอยู่อย่างพอเพียงและยั่งยืนได้ 

มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีปรัชญาและพันธกิจชัดเจนในการตอบสนองพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ และรัชกาลที่ ๑๐ ในการพัฒนาท้องถิ่น จึงมีความคิดและความตั้งใจที่จะดำเนิน “โครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนกาดกองต้า จังหวัดลำปาง และชุมชนบ้านหนองเงือก จังหวัดลำพูน”  โดยการนำเอาคุณค่าและมรดกทางภูมิปัญญา ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม มาพัฒนาให้เกิด “การท่องเที่ยว” สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ ๕F ได้แก่ ๑) อาหาร (Food) ๒) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ๓) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) ๔) มวยไทย (Fighting) และ ๕) การอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) ซึ่งไม่เพียงแต่นำมาซึ่งรายได้ทางเศรษฐกิจที่มาจากการท่องเที่ยวที่จัดการโดยชุมชนอย่างยั่งยืนแล้ว ยังก่อให้เกิดการรื้อฟื้นคุณค่า เกิดความหวงแหน ภาคภูมิใจ อยากอนุรักษ์สิ่งที่เป็นของดีของเด่น เป็นมรดกทางภูมิปัญญา ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของตนเองและส่งต่อให้กับลูกหลานในอนาคต เป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคงยั่งยืนให้กับคนในชุมชน นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ หวงแหนและอยากดำรงรักษาอัตลักษณ์คุณค่า สิ่งที่เป็นของดีของเด่นของตนเองเหล่านั้นเอาไว้ และสร้างความสุขให้กับชุมชนทั้งในปัจจุบันและกับลูกหลานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต